เมื่อ 3 ชั่วโมงที่แล้ว
ที่มาของภาพ, YouTube/CAREคิดเคลื่อนไทย
คำบรรยายภาพ,
“ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตั้งแต่ผมยังเป็นนักธุรกิจ” นายทักษิณ ชินวัตร กล่าว
สามวันผ่านไปหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดคุยในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์เมื่อคืนวันที่ 12 เม.ย. ปฏิกิริยาต่อการที่เขาประกาศความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมทั้งวิพากษ์ข้อเรียกร้องว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันฯ ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ยังคงคุกรุ่นอยู่ในโซเชียลมีเดีย
“เด็กไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด” คือข้อความที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โพสต์ในบัญชีทวิตเตอร์ หลังได้ฟังคำพูดของนายทักษิณ ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งว่าปัญหาบ้านเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ขณะนี้เป็นเพราะการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญที่แย่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจ จึงไปโทษและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“เด็กไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมอยากแนะนำว่าให้ปฏิรูประบอบประชาธิปไตยโดยการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” นายทักษิณ ซึ่งใช้ชื่อในคลับเฮาส์ว่า “โทนี่ วู้ดซัม” กล่าว
ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อคำพูดของนายทักษิณอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่เขาบอกว่าฟังแล้วรู้สึก “รังเกียจ” และ “น่าขยะแขยง”
ดร. ปวินโพสต์เฟซบุ๊กว่า การที่นายทักษิณบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจต้นเหตุของปัญหาบ้านเมือง จึงไปเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันนั้น “เป็นเรื่องที่แย่มาก” และเป็นการ “ดูถูกเยาวชนผู้กล้า” และเขาไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนายทักษิณที่ว่าปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
บีบีซีไทยสรุปเนื้อหาที่นายทักษิณพูดในวงคลับเฮาส์ที่จัดโดยกลุ่มแคร์ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อตั้งโดยอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย และนำมาเผยแพร่อีกครั้งทางช่องยูทิวบ์ “CARE คิดเคลื่อนไทย” เมื่อวันที่ 13 เม.ย. รวมทั้งประมวลปฏิกิริยาและความเห็นต่อท่าทีล่าสุดของอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลายคนมองว่าเป็น “นายใหญ่” ของพรรคเพื่อไทย
ที่มาของภาพ, AFP
คำบรรยายภาพ,
ทักษิณ กลายเป็น “โทนี่ วู้ดซัม” (Tony Woodsome) ผู้เปิดหน้าให้ความเห็นสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยเป็นแขกขาประจำในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ แพลตฟอร์มที่กลุ่มแคร์ใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร สร้างข่าว
ทักษิณพูดอะไร
กลุ่มแคร์ ผู้จัดวงคุยออนไลน์ในครั้งนี้ระบุว่า “พี่โทนี่” ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ กลับมาพบและพูดคุยกับ “พี่น้องคนไทยที่เขารัก” ในวาระปีใหม่ไทย โดยมี น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งเพจข่าว The Reporters เป็นพิธีกรรับเชิญ และมีสมาชิกหลัก ๆ ของกลุ่มแคร์ เช่น น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายดวงฤทธิ์ บุนนาค และนายธีรัตน์ รัตนเสวี ร่วมวงด้วย
ในการพูดคุยซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง นายทักษิณเริ่มต้นจากการสรุปสถานการณ์ใหญ่ในต่างประเทศ วิเคราะห์ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อไทย จากนั้นก็วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าไม่มีวิสัยทัศน์ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ผสมกับสงคราม ในช่วงหนึ่งเขายังได้เสนอตัวเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ด้วย
“อัตราการเติบโตของทั้งโลกจะหายไป 1% ซึ่งจะกระทบเราด้วย ทั้งราคาต้นทุนน้ำมันเงิน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ผมยังไม่เห็น และอยากขอร้องให้รัฐบาลตั้งทีมเศรษฐกิจขึ้นมา…ต้องมีทีมทำงานแล้ว ถ้าไม่มี ใช้ผมทำก็ได้นะ ผมช่วย ผม (ทำงานผ่านแอปพลิเคชัน) ซูมเอา ไม่ต้องกลับเมืองไทยก็ได้ ช่วยกันคิด ไม่งั้นบ้านเมืองมันไปไม่ได้…ถ้านายกฯ มอบหมายให้ผมมาช่วยคิด เอาเลย ผมยินดี”
จากนั้นพิธีกรก็ชวนนายทักษิณคุยประเด็นการเมืองในประเทศ เช่น ป้ายสวัสดีปีใหม่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ของ “พี่น้อง 3 ป.” กรณีคลิปเสียงของนายเสกสกล อัตถาวงษ์ ผู้ประกาศตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ บทบาทของ น.ส.แพทองธาร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวคนเล็กที่รับบทหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งนายทักษิณยอมรับว่าเป็น “ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น” และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ตัดสินใจไม่ยาก เพราะผู้สมัครมาจาก 2 ค่ายอย่างชัดเจนคือ ฝ่าย “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” กับ “เปิดกรุงเทพฯ”
ส่วนประเด็นว่าด้วยความจงรักภักดีที่เขามีต่อสถาบันกษัตริย์และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมทั้งความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น นายทักษิณมาพูดในช่วงท้าย เมื่อมีผู้ฟังหยิบยกผลงานเรื่อง “หวยบนดิน” เพื่อแก้ปัญหาหวยใต้ดินสมัยที่นายทักษิณเป็นนายกฯ มาถาม
นายทักษิณเล่าถึงแนวคิดการแก้ปัญหาหวยใต้ดินของเขาในขณะนั้น ก่อนจะตัดพ้อว่าเรื่องนี้กลับทำให้เขาถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกในความผิดตามมาตรา 157 คดีออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว จังหวะนี้เองที่นายทักษิณเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เขาถูก “เล่นงาน” รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าเขา “ล้มเจ้า”
บีบีซีไทยหยิบยกคำพูดของนายทักษิณพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า
“วันนี้บังเอิญว่าเป็นวันสงกรานต์ ไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร) ออกมาเยอะมาก เล่นงานผมตรงนั้นตรงนี้ หาว่าล้มเจ้า ผมว่าคนที่ล้มเจ้าจริง ๆ คือ คนที่เกาะความเป็นเจ้า เกาะเพื่อทำมาหากิน เกาะเพื่อมีอำนาจ แล้วก็อ้างเจ้า ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันก็เลยทำให้วุ่นวายกันหมดทั้งบ้านเมือง แตกความสามัคคีกันหมด”
- เป็นคนจงรักภักดี
“ผมเคยเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ (รัชกาลที่ 10) ตั้งแต่ท่านมีพระชนมายุประมาณ 8-9 พรรษา ท่านตามเสด็จรัชกาลที่ 9 ไปสันกำแพง ไปร้านผ้าไหมผมนี่แหละ ท่านทรงสูท แต่ขาสั้น เพราะยังทรงพระเยาว์ ผมเคยเห็นท่านตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็มีความรู้สึกว่าผมเป็นคนไทย เป็นคนที่มี loyalty (ความจงรักภักดี) ต่อสถาบัน จนผมมาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ จบมาก็ได้รับสมรสพระราชทาน เพราะฉะนั้นผมเองก็มีความรู้สึกผูกพันและเคารพมาตลอด แต่ผมก็ถูกกล่าวหามาโดยตลอด แล้วผมก็เป็นคนที่ทำงานถวายเจ้านายทุกพระองค์มาโดยตลอด ด้วยความจงรักภักดี ไม่มีอะไรเลย แต่คนก็ใส่ผมอยู่นั่นแหละ จนผมรำคาญ”
“ผมเป็นนายกฯ เมื่ออายุ 51 ผมเห็นมาหมด และผ่านมาทุกอย่าง ผมเป็นคนที่ทำงานเกือบ 6 ปี ใกล้เจ้านายที่สุด ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตั้งแต่ผมยังเป็นนักธุรกิจ”
ที่มาของภาพ, Getty Images
คำบรรยายภาพ,
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จร่วมงานมงคลสมรส ของ น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ชินวัตร และนายปิฎก สุขสวัสดิ์
- ปัญหาของประเทศอยู่ที่รัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์
“วันนี้ บ้านเมืองแย่เพราะว่าการบริหารที่ล้มเหลว เพราะรัฐบาลเกิดจากรัฐธรรมนูญที่แย่ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่มาก…ทำให้ความยุติธรรมของประเทศแย่มาก องค์กรอิสระ คือองค์กรที่ถูกตั้งโดย ‘3 ป.’ เป็นส่วนใหญ่ ชี้นิ้วได้หมด เพราะฉะนั้นความไม่ยุติธรรมมันเกิดขึ้น เด็กรุ่นใหม่ก็สงสัยว่าอนาคตเขาอยู่ตรงไหน เศรษฐกิจก็ล้มเหลว …เด็กไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมอยากแนะนำว่าให้ปฏิรูประบอบประชาธิปไตยโดยการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมาก ซึ่งผมไม่ได้ร่าง แต่ผมใช้และผมรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อการบริหารประเทศ จะได้รัฐบาลที่ดี (ปัจจุบัน) เราได้รัฐบาลที่มาจากที่มาที่ไม่ดี แล้วยังไม่เก่ง มีการทุจริต ตามโลกไม่ทัน ทำให้เด็กไม่มีอนาคต เด็กก็เลยไปโทษว่าเกี่ยวกับสถาบัน ความจริงไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวจริง ๆ”
“ปัญหาของไทยในวันนี้คือความไม่มีอนาคตของคนรุ่นใหม่ อันเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญที่ใช้ไม่ได้ เหตุเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่นก่อนเถอะ”
- ใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ
“รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลไม่ให้คนอ้างกันไปเรื่อยเปื่อย แต่กลับไปดูเรื่อง (มาตรา) 112 มากเกินไป ซึ่งสมัยก่อน ระหว่างผมอยู่ (เป็นนายกฯ) ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการใช้มาตรา 112 เพราะว่าเรามีคณะกรรมการในการพิจารณาว่าเรื่องนี้สมควรฟ้องมั้ย ตอนนี้ใครก็ไปฟ้องได้หมด หมู หมา กา ไก่ ฟ้องได้ ฟ้องหมด ก็เลยทำให้ ใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ”
- ประชาชนไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปยุ่งกับสถาบันกษัตริย์
“สถาบันต้องปรับตัวตามกาลเวลา ตามความคาดหวังของประชาชนอยู่แล้ว ทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวอยู่แล้ว ผมนิยม evolution (วิวัฒนาการ) มากกว่า revolution (การปฏิวัติ) บางคนพูดเรื่องงบประมาณ (ของสถาบันกษัตริย์) ไปดูงบลับที่ตรวจสอบไม่ได้ของเหล่าทัพ กอ.รมน. ของทำเนียบสิ รวมกันแล้วเยอะนะ เพราะฉะนั้นยังมีอะไรหลายอย่างที่ต้องดู”
“สถาบันท่าน evolve อยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ที่พวกเราจะต้องไปยุ่งกับท่าน และผมคิดว่าท่านก็อยู่เหนือการเมือง การเมืองก็ไม่ควรดึงท่านลงมา บางพรรคการเมืองก็ไปอิงท่าน ผมคิดว่าอย่าไปยุ่งกับท่าน ให้ท่านอยู่เหนือการเมืองและเป็นศูนย์รวมใจให้ประชาชนดีกว่า…การเมืองเราไม่มีใครฟังใคร ถ้าเรามีศูนย์รวมใจ มีสถาบันกษัตริย์ที่คอยเป็นกลาง ดูแลให้ทุกฝ่ายสามัคคีหันหน้าเข้าหากันก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์”
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
คำบรรยายภาพ,
ผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ถือป้ายเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563
ปฏิกิริยาต่อวาจาทักษิณ
นอกจากแกนนำขบวนการคนรุ่นใหม่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ที่โพสต์ตั้งคำถามสั้น ๆ ว่า “เด็กไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด” แล้ว บรรดาคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมกับการชุมนุม “ทะลุเพดาน” ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 เป็นต้นมา ต่างแสดงความคิดในโซเชียลมีเดีย โดยหลายคนไม่เห็นด้วยกับการที่นายทักษิณมองว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ นั้นเกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจของเด็ก
” ‘เด็กไม่รู้ ไม่เข้าใจ’ แบบนี้เหมือนว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันเลย รัฐธรรมนูญต้องแก้ ใช่ครับเห็นด้วย แต่การปฏิรูปประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นก็ต้องปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยครับ” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @PPunjakunaporn แสดงความเห็น
ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกคนโพสต์ว่า “ถ้าทักษิณแกล้งมองมหาวิกฤติปัญหาที่ผ่านมา ด้วยการหลิ่วตาข้างหนึ่งอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ เราคงไปด้วยกันไม่ได้แล้วนะ ตาสว่าง ครั้งที่ 2…”
ด้านนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” โพสต์เฟซบุ๊กว่าเขาไม่ขอพูดหรือถกเถียงในประเด็นที่วา “ควรปฏิรูปสถาบันหรือไม่” อีกแล้วเพราะ “คนรุ่นใหม่ตกผลึกร่วมกันแล้ว” และมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย
นายอานนท์ ซึ่งเพิ่งจะได้รับการประกันตัวในคดี ม.112 และคดีอื่น ๆ ได้ไม่กี่เดือนและยังคงต้องสวมกำไลอีเอ็มติดตามตัวอยู่ ยังมองถึงผลพวงจากการที่นายทักษิณออกมาวิจารณ์คนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันว่า อาจนำไปสู่การแตกแยกกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งเขาคิดว่าทุกฝ่ายควรใจกว้างและมีวุฒิภาวะสำหรับการถูกวิจารณ์
“ประเด็นนึงที่เราต้องเข้าใจร่วมกันคือ อย่าให้กลายเป็นว่า ฝ่ายสนับสนุนก้าวไกลก็จ้องด่าเพื่อไทย ฝ่ายสนับสนุนเพื่อไทยก็จ้องด่าก้าวไกล หรือไปกว่านั้นคือ พอฝ่ายไหนพลาด คนที่สนับสนุนก็ออกมาปกป้องแบบไม่ลืมหูลืมตา…ผมคงไม่เรียกร้องให้ต้องรักสามัคคีกันอะไรขนาดนั้น แต่อยากเรียกร้องให้สร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์และรับฟังให้เป็นเรื่องปกติในขบวนประชาธิปไตยของเรา…เพราะผมเชื่อว่าทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลก็ไม่ได้มีปลายทางต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวลชนทั้งสองฝ่าย ‘ตาสว่าง’ ทั้งนั้นแหละครับ”
ที่มาของภาพ, Reuters
คำบรรยายภาพ,
อานนท์ นำภา ทนายความผู้เปิดประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
นางนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการอาวุโส ซึ่งเพิ่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า สำหรับเธอแล้วความคิดเห็นของนายทักษิณว่าด้วยสถาบันกษัตริย์หรือการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นความคิดเห็นของอดีตนายกฯ คนหนึ่ง ที่แม้จะเป็นคนที่หลายคนในพรรคเพื่อไทยศรัทธา แต่ความเห็นของเขาก็ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพราะนายทักษิณไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค และเธอก็เชื่อว่าคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยทำงานอย่างเป็นอิสระจากนายทักษิณ
“คำพูดของคุณทักษิณทำนองว่า ‘เด็ก ๆ ไม่เข้าใจ’ หรือ ‘สถาบันกษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง’ ต่าง ๆ นั้น หลายคนรวมถึงเราส่ายหน้า แต่บางทีเขาอาจจำเป็นต้องพูด เราไม่รู้เบื้องหลังอื่น ๆ เกี่ยวกับการใส่ร้ายเขาที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้และเราไม่อาจรู้ consequences (ผล)” นางนิธินันท์ระบุ
มุมมองจากนักวิชาการ
ในมุมมองของ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่ไม่สามารถปฏิเสธการถกเถียงเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นประเด็นที่คนจำนวนมากเห็นร่วมกัน เห็นได้จากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563
“จะปฏิรูปหรือไม่ปฏิรูปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปฏิเสธการถกเถียงในเรื่องนี้ไม่ได้” ดร.เข็มทองให้ความเห็นกับบีบีซีไทย และบอกว่า ถึงแม้นายทักษิณจะไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน นายทักษิณก็ไม่อาจเปลี่ยนใจมวลชนคนรุ่นใหม่ได้
ส่วนประเด็นที่นายทักษิณมองว่าต้นตอปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่รัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ และสิ่งที่ต้องปฏิรูปคือระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่สถาบันกษัตริย์นั้น ดร.เข็มทอง กล่าวว่า เป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทต่อการเมืองไทยน้อย
“ถ้าคุณเชื่อว่าสถาบันมีบทบาทน้อย ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลก็จบ ซึ่งจริง ๆ เราก็เปลี่ยนมาหลายรอบแล้ว…ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา แก้รัฐธรรมนูญแล้วปัญหายุติมั้ย มันก็ไม่ยุติ จึงน่าจะสรุปได้ว่าการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมันไม่ได้ทำให้ปัญหายุติหรอก มันต้องไปแก้วัฒนธรรมการเมือง โครงสร้างอำนาจที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร” นักวิชาการจุฬาฯ ระบุ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
เขาบอกว่าท่าทีล่าสุดของนายทักษิณ ทำให้เห็นว่าฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับทหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จริง ๆ แล้วมีหลายระดับ คือ ระดับที่หยุดอยู่แค่แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือระดับที่ไปถึงจุดที่เรียกกันว่า “ทะลุเพดาน”
หากวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังความคิดของนายทักษิณที่ออกมาเป็นคำพูดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ดร.เข็มทองคิดว่านายทักษิณและอาจจะรวมถึงพรรคเพื่อไทยกำลังพยายามดึงดูดฐานเสียงเก่าของตัวเอง แต่ท่าทีเช่นนี้ก็อาจจะทำให้สูญเสียฐานเสียงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปได้
สำหรับประเด็นที่นายทักษิณมองว่าสถาบันกษัตริย์จะปรับตัวเองโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องถูกผลักดันจากลุ่มใด ดร.เข็มทองบอกว่ามีความเป็นไปได้
“ในทางวิชาการเราเห็นมาแล้วว่าสถาบันต่าง ๆ มีทั้งแบบที่ปรับตัวเอง แบบที่คนอื่นมาปรับให้ หรือแบบไม่ปรับเลยจนอยู่ไม่ได้และต้องออกจากเกมไป” ดร.เข็มทองกล่าว และเสนอว่าสังคมควรมองว่า ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นข้อเสนอที่ให้สถาบันปรับตัว ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน
ด้าน รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) วิเคราะห์ว่าคำพูดของนายทักษิณสะท้อนให้เห็นว่าทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการต่างกดทับความคิดของคนรุ่นใหม่
“สรุปว่าทั้งฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเผด็จการ ต่างก็ใช้วาทกรรมไม่ต่างกัน ในการกดทับความคิดของคนรุ่นใหม่ สำหรับพวกเขาเยาวรุ่นเป็นได้แค่ ‘เด็ก’ ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ผู้เปลี่ยนแปลงสังคมแห่งอนาคต ความคิดประเภทนี้ ต่อให้นิยม AI AR มันก็เป็นได้แค่เทคโนโลยีล้ำยุค เอาไว้ค้ำจุนระบอบเก่าเท่านั้น” นักวิชาการ มช. ระบุ