อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ชี้ทักษิณกลับมาไม่มีความหมาย-เพื่อไทยกลายเป็นพรรค “อนุรักษนิยม” – BBC News ไทย

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham / BBC Thai

พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ พธม. มองการเมืองไทยกำลังจะก้าวข้ามนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยเห็นว่า “ระบอบทักษิณ” อ่อนแอลง ชี้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงเกือบสองทศวรรษ ไม่เว้นแม้แต่แกนนำและมวลชนพันธมิตรฯ

การประกาศกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผ่านบุตรสาวคนเล็ก เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่แม้ต่อมาจะมีการประกาศ “เลื่อน” การเดินทางออกไป แต่ปฏิเสธได้ยากว่าการประกาศขอกลับบ้านครั้งนี้ “เข้าใกล้ความจริง” กว่าการประกาศกลับบ้านทุกครั้งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

พิภพ ธงไชย ในวัย 78 ปี หนึ่งในอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยจัดชุมนุมประท้วงบนท้องถนนนานแรมเดือนเพื่อขับไล่ ทักษิณ ออกจากตำแหน่งเมื่อครั้งยังเป็นนายกฯ บอกกับบีบีซีไทยว่า จนถึงวันนี้ เขามองว่าอดีตนายกฯ ผู้นี้ไม่ได้มีความหมายต่อสังคมไทย แม้ว่าจะยังมีรูปธรรมของ “ระบอบทักษิณ” อันหมายถึงพรรคเพื่อไทย หรือทายาทที่มีบทบาทในพรรคอยู่ก็ตาม

“สำหรับผมนะ คุณทักษิณไม่มีความหมาย เพราะการเมืองมันเปลี่ยนไปเยอะ คุณทักษิณยังเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองยังมีความหมายทางการเมือง” พิภพ กล่าวกับบีบีซีไทย

อดีตแกนนำ พธม. กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการ “เคลียร์คดี” จาก “ดีลกลับบ้าน” แต่ประชาชนยังจดจำการกระทำในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน คดีซุกหุ้น รวมถึงการควบรวมพรรคการเมืองจนมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา

“ถึงแม้จะมีการเคลียร์คดีก็ตาม แต่ความรู้สึกต่อคดี และผลการกระทำของทักษิณยังอยู่ แล้วคนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องจริง คุณทักษิณไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เคยรู้สึก การทุจริตคอร์รัปชันเขียนเป็นบัญชีหางว่าวเลย เมื่อไม่รู้สึก ก็ไม่มีความสำนึกว่าตัวเองกระทำความผิด” พิภพ กล่าว

กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่มีบทบาทนำในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2548-2549 ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการโค่นล้มรัฐบาล “เครือข่าย” ของทักษิณอีก 2 ชุด ติดต่อกัน นั่นคือ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี 2551

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือน มี.ค. 2549

ทักษิณ อยากเคลียร์คดี ส่วน ประวิตร อยากเป็นนายกฯ

ความพลิกผันในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมือง 8 พรรค ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศแยกทางเดินกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ด้วยเงื่อนไขที่เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอด้วยเหตุที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะเกิดรัฐบาล “ข้ามขั้ว”

พิภพมองว่าการ “ข้ามขั้ว” ดังกล่าว หากย้อนไปช่วงก่อนการเลือกตั้ง ถือว่าพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ กำหนดยุทธศาสตร์ผิดพลาดแต่ต้น ที่แบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 2 ขั้ว ได้แก่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” และ “ฝ่ายร่วมกับคณะรัฐประหาร/เผด็จการ” เมื่อเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้งอย่าง “แลนด์สไลด์” จึงทำให้ “ธงซ้อน” ของทักษิณที่ต้องการเคลียร์คดีและกลับบ้าน เดินหน้าได้ยากขึ้น

“ทักษิณอยากกลับบ้านเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลับทันที ต้องกลับหลังจากเคลียร์คดี อันนี้ธงที่หนึ่ง ทักษิณก็คิดว่าใช้ธงนี้และก็คิดว่าตัวเองจะแลนด์สไลด์ ก็เลยไปแยกพรรคการเมืองเป็นสองกลุ่ม แล้วไปมัดพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ตอนนี้แก้มัดออกแล้ว เพราะว่าไปคาดการณ์ผิด คิดว่าตัวเองแลนด์สไลด์ แล้วนึกไม่ถึงว่า พรรคก้าวไกลจะแลนด์สไลด์กว่า นั่นคือความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์” พิภพระบุ

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ผู้นี้มองว่า ทั้งความต้องการเคลียร์คดี-ต้องการกลับบ้านของทักษิณ เกิดขึ้นในขณะที่ในฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงทำให้เกิด “ดีลลับ” ขึ้น ไม่ว่าจากข่าวที่ปรากฏการเดินทางไปอังกฤษของ พล.อ.ประวิตร หรือภาพแกนนำพรรคการเมืองที่ฮ่องกง ล้วนตั้งอยู่บน “ความต้องการสมประสงค์” ของทั้งสองฝ่าย

อภัยโทษ-นิรโทษกรรม

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า การสะสางคดีของนายทักษิณผ่านช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็น “ความใจร้อน” ของทักษิณ ขณะที่ยังมีทางเลือกอีกทาง คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ต้องกระทำผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มการเมืองทุกสีเสื้อที่ต้อง “คดีการเมือง”

พิภพ ชี้ให้เห็นว่า “มีการรับลูก” จากหลายหน่วยงาน ในการเตรียมการรับทักษิณกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ หรือการให้ความเห็นต่อแนวทางการขออภัยโทษตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่พิภพเห็นว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ กำลังกลับเผชิญกับ “ความซับซ้อน” ที่แตกต่างจากการนิรโทษกรรม

“ทำเรื่องขออภัยโทษ แต่ไม่ได้บอกว่า ระยะเวลาในการเดินเรื่องกี่วัน ทักษิณก็เอะใจ ถ้าตัวเองหลวมติดคุก ออกไม่ออก ไม่ได้อยู่ในมือตัวเองแล้วนะ การเมืองเลยต้องล้มกระดานว่ากันใหม่ ทักษิณไม่แน่ใจ ทางนี้บอกกลับมาได้เข้าคุก แล้วขออภัยโทษ ขออภัยโทษเกี่ยวข้องกับสถาบัน (กษัตริย์) โดยตรงนะ แต่ถ้านิรโทษ ออกเป็น พ.ร.บ. ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ความซับซ้อนมันอยู่ตรงนี้” พิภพกล่าว พร้อมบอกว่า ความซับซ้อนนี้สะท้อนออกมาจากการปรากฏภาพของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ใน “ดีลลังกาวี” ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ตอนหนึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะ อะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด”

“ความซับซ้อน คือ สถาบันฯ… ท่านคิดอะไรไม่มีใครรู้ เหมือนเราไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดอะไร อย่างเช่นตอนที่พันธมิตรฯ เสนอนายกฯ พระราชทาน พระองค์ท่านออกมาสวนเลย… ถ้าไม่ระวังตัวนี้ พระองค์ท่านก็ปฏิเสธ” พิภพกล่าว

อดีตและปัจจุบันของแกนนำพันธมิตรฯ

นอกจากสาเหตุเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ ข้อกล่าวหาของพันธมิตรฯ ต่อทักษิณอีกประเด็นหนึ่ง คือ ความสงสัยในความจงรักภักดี

แต่พลันที่ทักษิณประกาศกลับบ้านเมื่อวันที่ 26 ก.ค. แกนนำพันธมิตรฯ คนสำคัญอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศว่าเขา “โอเค” หากทักษิณกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีคำพิพากษาของศาลแล้ว ประกอบกับจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยด้วย ว่าจะไม่มีทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พิภพ ปฏิเสธให้ความเห็นต่อท่าทีของสนธิ และมองว่าเป็นเหตุผลของแต่ละคน

เมื่อถามว่าความเปลี่ยนแปลงของพันธมิตรฯ ในห้วงการเมืองไทย 17-18 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร พิภพบอกว่า “เมื่อพันธมิตรฯ สลายตัวไปแล้ว แกนนำแต่ละคน ก็ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง รวมทั้งพี่น้องพันธมิตรฯ ด้วย ก็ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ในตอนที่ต่อสู้กับทักษิณ เรามีธงนำที่มั่นคงเห็นร่วมกัน” อดีตแกนนำ พธม. วัย 78 บอกกับบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนในบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน อดีตแกนนำพันธมิตรฯ มี “ธงนำ” ร่วมกันในเรื่องใด พิภพ ไม่มีคำตอบ

“ไม่เคยประชุม บอกไม่ได้ ตอนเราติดคุก 5 แกนนำ และ 1 ผู้ประสานงาน ก็ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกัน คุณสนธิ ติดอยู่อีกแดนหนึ่ง ของแดนเราก็มี สุริยะใส (กตะศิลา) ลุงจำลอง (ศรีเมือง) ผม และสมศักดิ์ (โกศัยสุข) ก็ไม่ได้คุยการเมืองกัน เราก็ติด (ในเรือนจำ) อยู่ 3 เดือน” พิภพกล่าว

พิภพเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นหนึ่ง จำนวน 6 คน ที่ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกคนละ 8 เดือน เมื่อเดือน ก.พ. 2562 ในคดีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.- 3 ธ.ค. 2551 ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 เมื่อเดือน พ.ค. 2562

“ไม่เชื่อว่าทักษิณไม่จงรักภักดี แต่…”

ข้อห้า “ล้มเจ้า” และพฤติกรรม “มิบังควร” ซึ่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้มีบทบาทหลักในการเคลื่อนไหวโจมตีทักษิณ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 เป็นมาอย่างไร หากย้อนไปดูคำให้สัมภาษณ์ สนธิ ในรายการ “ลงเอยอย่างไร” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 2 ธ.ค. 2552 ที่มี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อปี 2552 เขาระบุว่า “จุดแตกหัก” ที่ทำให้เขารับไม่ได้ คือเหตุการณ์ที่ทักษิณไปทำพิธีในวัดพระแก้ว

สนธิ เชื่อด้วยว่า มีความพยายามที่ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์ลดลงมาเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ จึงทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ

“ดูพฤติกรรมของคุณทักษิณ ประกอบกับบริบทอื่น ๆ มาเป็นเงื่อนไข และเหตุผลใหญ่ ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าผมไม่ออกมาสู้เพื่อพระองค์ท่านแล้ว จะไม่มีใครที่จะออกมาสู้” บทสัมภาษณ์ที่เว็บไซต์ผู้จัดการนำมาเผยแพร่ ระบุ

วาทกรรม “ล้มเจ้า” ที่อยู่ในการเคลื่อนไหวช่วงเวลานั้น ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหาร 19 ก.ย. ทำให้ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อสังเกตว่า “เป็นรัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์” ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์ของ คปค. ที่ให้เหตุผลการยึดอำนาจประการหนึ่งว่า “การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน… หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง”

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

อย่างไรก็ตาม พิภพ ปฏิเสธให้ความเห็นถึงข้อหา “ล้มเจ้า” แต่ระบุว่า เขาไม่เชื่อว่าทักษิณไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ

“โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าทักษิณไม่จงรักภักดี แต่ทักษิณชอบมีอำนาจเหนือ นี่เป็นจุดอ่อนของทักษิณ และอยากจะใช้อำนาจนั้นเหนืออำนาจเดิม ลองเปรียบเทียบ ฮุน เซน (อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา) จงรักภักดีไหม ถ้าฮุน เซน ผมพูดได้ว่า ไม่ได้จงรักภักดีสถาบันกษัตริย์เขมรหรอก แต่อยากจะคงสถาบันกษัตริย์เขมรไว้ เพราะรู้ว่าประชาชนยังต้องการความเป็นสถาบันฯ อยู่” อดีตแกนนำ พธม. กล่าว

“ทักษิณแค่แก้ปมเรื่องคดีความทางกฎหมายก็จบ แต่ส่วนจะไปมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ ก็แก้ปมเรื่องตัวนั้น เพราะอย่าลืมว่า 112 เป็นแค่สัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นถ้าทักษิณเคลียร์คดีตามกฎหมายให้หมด ถ้ามาเล่นการเมืองต้องมาแก้ปมตัวนั้น แต่ปมตัวนั้น ถ้าทักษิณเขาไม่ได้พูดอะไรเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ก็ทำอะไรไม่ได้”

ก้าวไกล ทำให้ “อนุรักษนิยมฝ่ายขวา” ปรากฏตัว

ในการสัมภาษณ์กับบีบีซีไทย พิภพกล่าวย้ำหลายครั้งถึงความคิดทางการเมืองของคนไทยในรอบทศวรรษ ว่ามีความเปลี่ยนแปลง ดังเห็นได้จากกระแสการตอบรับจากพรรคก้าวไกล ที่มีวิถีทำการเมืองแบบใหม่

“ใน 10 กว่าปีนี้ คนมีวิธีคิดทางการเมืองเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปมาก มิฉะนั้นพรรคก้าวไกลไม่แลนด์สไลด์หรอก และพรรคก้าวไกลได้รับคำรับรองจากคุณชวน หลีกภัย ว่าไม่ซื้อเสียง นี่เป็นความมหัศจรรย์ของสังคมการเมืองไทยในการเลือกตั้ง”

เขากล่าวด้วยว่า บทบาทของพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล “ที่มีแต่คนหนุ่มและเขียนนโยบายเก่ง” แสดงถึงอุดมการณ์ “เสรีนิยมก้าวหน้า” ทำให้กลุ่มการเมือง “อนุรักษนิยมฝ่ายขวา” ปรากฏตัวขึ้นในสังคมการเมืองไทย จากเดิมที่ฐานคู่ขัดแย้งอยู่ที่ “ทหารกับนักการเมืองหากิน”

ในทางกลับกัน วันนี้พิภพมองว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวอุดมการณ์ “อนุรักษนิยมและทุนนิยม” พร้อมให้คำนิยามกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) “ชุดเฉพาะกาล” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเป็น “อนุรักษนิยมล้าหลัง”

“เพื่อไทย เป็นอนุรักษนิยมและเป็นทุนนิยมชัด ๆ แต่ล้าหลังหรือเปล่ายังไม่รู้ ต้องดูบทบาท…” พิภพ กล่าว ส่วน สว. “แสดงตัวเป็นอนุรักษนิยมล้าหลังเพราะทหารเขาเลือกไป เขาต้องเลือกอนุรักษนิยมที่นิยมอำนาจ”

“ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ประกอบด้วยทหาร สว. (สมาชิกวุฒิสภา) ชนชั้นกลาง ฝ่ายขวา กลัว เพราะไปอ่านนโยบายก้าวไกลแล้วกระแทกทุกเรื่อง ทำได้ไม่ได้อีกเรื่องนะ เพราะคนลืมไปว่าการที่จะทำนโยบายให้ประสบความสำเร็จต้องออกเป็นนโยบาย ออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภา แต่มีพรรคเดียวเสียงไม่ได้มากพอ”

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

เขากล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2517 หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งปีนี้ครบ 50 ปี แต่ไม่เติบโตเท่าพรรคก้าวไกล พร้อมเห็นว่าแม้หลังจากปี 2517 เป็นต้นมา คนไทยสนับสนุนให้การรัฐประหารไปรอด แต่ตอนนี้มาถึงจุดที่รู้แล้วว่า ประชาชนจำนวนมากไม่สนับสนุนรัฐประหาร และอยากให้ประเทศดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง

ในวันนี้ อดีตแกนนำ พธม. วัย 78 ปี “ไม่มีความกังวล” ต่อกลุ่มการเมืองภายใต้การบงการของทักษิณ ชินวัตร อีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนเข้มแข็งขึ้นมาก เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนบนถนนตั้งแต่ยุค พธม. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนถึงปรากฏการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปี 2563

แล้วอันตรายที่สุดสำหรับประชาธิปไตยไทยในทัศนะของพิภพเวลานี้ คืออะไร

คำตอบของพิภพบอกว่าคือ “อำนาจนิยม” ในทุกมิติ ตั้งแต่ในโรงเรียน ไปจนถึงการล้มกระดานของกองทัพ

“อำนาจนิยมยังเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย มิเช่นนั้น รัฐประหารไม่มีมาถึง 13 ครั้ง” เขาทิ้งท้าย

หมายเหตุ* บทความชิ้นนี้ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 ก่อนนายทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับไทยจากเดิมที่ระบุว่าเป็นวันที่ 10 ส.ค.