ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 ตุลาคม …

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2566

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2566

การเมือง/มั่นคง

นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งปรับเปลี่ยนคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกฤษฎีกาท้วงติง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเซ็นคำสั่งปรับเปลี่ยนคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการไม่ได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงติงมาก็ต้องฟัง ยืนยันไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล

นายกรัฐมนตรี ยังตอบคำถามสื่อมวลชนจีน เกี่ยวกับการเรียกความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยวชาวจีน โดยยืนยันว่ามีมาตรการดูแล เช่น เรื่องอาวุธปืนจะต้องมีมาตรการดูแลให้ถูกต้อง ไม่ให้เข้าถึงง่าย

เศรษฐกิจ/ท่องเที่ยว

ไทยส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ อันดับ 1 ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก 2566

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2566 โดยมีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งไทยครองอันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ถือเป็นจุดแข็งที่ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ดัชนีนวัตกรรมโลก เปรียบเสมือนตัวชี้วัดการจัดอันดับผลการดำเนินงานและสะท้อนขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งในภาพรวมไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง รองจาก จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และตุรเคีย โดย 2 ตัวชี้วัดที่ไทยครองอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ ด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ และการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาโดยภาคธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการนำนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในระดับสูง และตระหนักถึงความสำคัญของการทำ R&D เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับภาคธุรกิจ

นายวุฒิไกร กล่าวว่า จากผลจากตัวชี้วัด GII ด้านทรัพย์สินทางปัญญา สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกันส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้พัฒนาบริการออนไลน์ต่างๆ ตามนโยบาย SMART DIP อาทิ การยื่นจดทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing ระบบตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าด้วยภาพ ระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแบบเร่งด่วน ระบบวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีสิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจดทะเบียนและรับคำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อเป้าหมายในการนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางให้สำเร็จ

ตำรวจท่องเที่ยวยืนยันไทยยังเป็นเจ้าบ้านที่ดี ขออย่าส่งต่อข้อมูลกระทบการท่องเที่ยวไทย

พลตำรวจตรี อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ออกแถลงการณ์เหตุยิงในห้างสรรพสินค้า 3 ภาษา ประกอบด้วย ไทย จีน และอังกฤษ ส่งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย สื่อต่างประเทศ รวมไปถึงผู้แทนรัฐบาลหลายประเทศที่ประจำการในประเทศไทยแล้ว โดยระบุว่า ในนามของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวานที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งหมดแล้ว ซึ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการรายงานความคืบหน้าไปยังผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทยโดยตลอดและจะถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อนำไปสู่มาตรการที่รัดกุม ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไทย ผู้ประกอบการและชาวไทย ต่างมีความตั้งใจเป็นเจ้าบ้านที่ดีต่อนักท่องเที่ยวทุกชาติทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต

ขณะเดียวกัน ขอวิงวอนไปยังชาวไทยและนักท่องเที่ยวทุกมุมโลก อย่าส่งข้อความ หรือข่าวอันไม่เป็นความจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย รวมถึงกระทบต่อความรู้สึกของผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้สูญเสียชีวิต โดยหากมีข้อกังวลสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องได้จากหน่วยราชการ สถานทูตไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ หรือจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้

เกษตรกรรม/สิ่งแวดล้อม

การยางแห่งประเทศไทย จัดสรรสวัสดิการชาวสวนยาง ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นอกจากนโยบายขับเคลื่อนยางพาราไทยให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืนแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของชาวสวนยางโดยการจัดสรรสวัสดิการภายใต้เงินกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งร่างระเบียบสวัสดิการและหลักเกณฑ์ สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง กรณีเสียชีวิต ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และจะเสนอคณะกรรมการ กยท. เห็นชอบโดยเร็ว ซึ่งหากมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าปลงศพ รายละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กล่าวด้วยว่า กยท. มีสวัสดิการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นสวัสดิการที่จัดสรรให้ในกรณีสวนยางประสบภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยแล้ง รวมถึงโรคและศัตรูพืชทุกชนิด จนทำให้ต้นยางเสียหาย (ตาย หักโค่น จนไม่สามารถเติบโตหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้) ในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นในแปลงเดียว โดยแจ้งขอรับความช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่ กยท. สาขาในพื้นที่ที่สวนยางนั้นตั้งอยู่ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประสบภัยหรือนับถัดจากวันที่ภัยพิบัติสิ้นสุดลง นอกจากนี้ กยท. มีเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยาง ตามมาตรา 49(5) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีได้รับความเดือดร้อน ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีประสบภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 3 ปี

สังคม

ผลิตเชฟอาหารไทยป้อนตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยว เน้นมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมติดตามการสาธิตการทำอาหารไทยในเมนู “ต้มข่าไก่” ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โอกาสนี้ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะการผลิตแรงงานป้อนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีหลายตำแหน่งและหลายอัตรา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีความต้องการปีละกว่า 400,000 คน ซึ่งทักษะด้านอาหารไทยในตำแหน่งเชฟอาหารไทย หรือกุ๊กตามร้านอาหาร เป็นตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมที่พักตามแหล่งท่องเที่ยวมีความต้องการ ผู้ที่มีทักษะการทำอาหารเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งผู้ที่มีทักษะในการทำอาหารไทย มีโอกาสในการประกอบอาชีพทั้งส่วนตัว หรือเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ

ส่วนเรื่องรายได้ของเชฟมีหลายระดับ เชฟในประเทศไทยจะมีรายได้เริ่มต้นตั้งแต่ 18,000 – 32,000 บาท/เดือน เชฟที่ทำงานในโรงแรมระดับ 3-4 ดาว มีรายได้ประมาณ 70,000 – 90,000 บาทต่อเดือน หากเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวจะมีรายได้ถึงหลักแสนบาทขึ้นไป

กรมพัฒนาฝีมืแรงงาน ต้องให้ความสำคัญและเร่งผลิตแรงงานในด้านดังกล่าวป้อนภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ย้ำว่าแรงงานต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน มีใบรับรองด้านฝีมือ เพื่อยืนยันความสามารถเพื่อรับค่าจ้างอย่างเหมาะสมตามฝีมือด้วย

ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนาทักษะแรงงานด้านการท่องเที่ยว ในปี 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรภาคการท่องเที่ยวปีละกว่า 30,000 คน กระจายเป้าหมายไปยังหน่วยฝึกทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร หลักสูตรการฝึกด้านอาหาร เช่น การประกอบอาหารไทยประยุกต์ การประกอบอาหารไทยฮาลาล การประกอบอาหารว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการบริการ อาหารไทยสำหรับร้านคาเฟ่ เป็นต้น

สำหรับเมนูต้มข่าไก่ เป็นหนึ่งในเมนูที่ได้จัดฝึกอบรมและทดสอบด้านอาหารไทย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม ร่วมดำเนินการจัดอบรม หรือขออนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้วย ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ทั่วประเทศรวม 71 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 27 แห่ง ส่วนภูมิภาคอีก 44 แห่ง

กทม.ร่วมส่งต่อความสุข วันอาหารโลกปี 2023 ตามแนวคิด “น้ำคือชีวิต น้ำคืออาหาร”

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กิจกรรมวันอาหารโลกจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของอาหารและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการเพื่อการดำรงชีวิต อาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมทำอาหารร่วมกันในวันนี้นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของอาหารแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้พนักงาน จิตอาสาและทีมงานมูลนิธิฯ ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย สอดคล้องกับธีมวันอาหารโลกของปี 2023 นี้ ที่ระบุไว้ว่า “น้ำคือชีวิต น้ำคืออาหาร” ที่เราจะส่งต่ออาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อแทนคำขอบคุณให้แก่กลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่สาธารณะ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเขตบางพลัด หวังว่ากิจกรรมในวันนี้จะสร้างความสุขให้กับทุกคนเพื่อให้ทุกคนมีพละกำลังในการดูแลแหล่งน้ำอันจะเป็นชีวิตและอาหารของพวกเรา และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

สำหรับวันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นในปี 2539 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันอาหารโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยและทุพโภชนาการความสำคัญของอาหารแก่ประชาชนรวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร โดยในวันอาหารโลกปี 2566 นี้ ได้มีการกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน ซึ่งมีแนวคิดหลักคือ “Water is life, Water is food, Leave No One Behind” หรือ”น้ำคือชีวิต น้ำคืออาหาร ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา

ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา

แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว