27/06/2567
พิมพ์
วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) เวลา 09.30 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี นางสาวนิตยา เที่ยงตรงภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายดลรวิชญ์ พุทธเจริญทอง ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พันตำรวจเอกพงศ์ธร พงศ์รัชตนันทน์ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 พันตำรวจเอกณัฐกิตติ์ มีสุข ผู้กำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 พันตำรวจโทสุกานต์ นิ่มเจริญ สารวัตรกองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 นายพีรพงศ์ รำพึงจิตต์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมแถลงข่าว กรมศุลกากรเร่งสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดทุกช่องทาง รวมมูลค่ากว่า 45 ล้านบาท ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ จึงสั่งการให้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดทุกช่องทางกรมศุลกากรจึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่จาก บช.ปส. ร่วมกันตรวจค้นผู้โดยสารหญิง สัญชาติแอฟริกาใต้ เดินทางมาจากเมืองไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย พบว่า ผู้โดยสารหญิงรายดังกล่าวได้ซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีนในร่างกายด้วยวิธีการกลืน จำนวน 35 ก้อน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 415 กรัม มูลค่ากว่า 1,245,000 บาท จึงได้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบว่า เป็นความผิดในกรณีนำยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน เข้ามาในราชอาณาจักร และมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่จากกองสืบสวนและปราบปราม ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งออกของต้องห้ามต้องกำกัด ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศเกาหลีใต้ มีความน่าสงสัย โดยสำแดงสินค้าเป็น SNACK , MILK POWDER จึงได้ทำการตรวจสอบ พบเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า (Methamphetamine) ลักษณะเป็นเม็ดกลม สีชมพู และสีเขียว มีอักษร WY ซุกซ่อนอยู่ภายในซองนมผงสำเร็จรูป จำนวน 2 ห่อ ปริมาณ 13,850 เม็ด มูลค่า 415,500 บาท กรณีนี้เป็นความผิด ในการพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า (Methamphetamine) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และมาตรา 242 มาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่จาก บช.ปส. จับกุมผู้โดยสารหญิงชาวไทยพยายามลักลอบนํายาเสพติดออกไปนอกราชอาณาจักร เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติมาเล ประเทศมัลดีฟส์ โดยพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ลักษณะเป็นถุงพลาสติกสีเทาพันเทปกาวสีน้ำตาลหุ้มด้วยถุงพลาสติกสีดำจำนวน 2 ห่อ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มรวมทั้งสิ้นประมาณ 2 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท โดยของกลางทั้งหมดซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณพื้นกระเป๋าสะพายหลังที่จัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษ จำนวน 2 ใบ ซึ่งเก็บอยู่ในกระเป๋าเดินทางทรงแข็งสีเทา มีล้อลาก
การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) โดยไม่ได้รับอนุญาต และครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้มีการจับกุมการลักลอบนำช่อดอกกัญชาซุกซ่อนเพื่อเตรียมส่งออกนอกราชอาณาจักรอีกด้วย โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบสินค้าขาออก จำนวน 3 เคส จำนวน 291.1 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 10.8 ล้านบาท ได้แก่
1) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ตรวจสอบสินค้าขาออก ปลายทางประเทศสิงคโปร์ สำแดงชนิดสินค้าเป็นสระว่ายน้ำเป่าลม มีความน่าสงสัย จึงทำการเปิดตรวจ พบช่อดอกกัญชาซุกซ่อนอยู่ในกล่องผลิตภัณฑ์สระว่ายน้ำเป่าลม จำนวน 95.059 กิโลกรัม มูลค่า 3.5 ล้านบาท
2) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ตรวจสอบสินค้าขาออก ปลายทางประเทศอังกฤษ สำแดงชนิดสินค้าเป็นอุปกรณ์มวย มีความน่าสงสัย จึงทำการเปิดตรวจ พบช่อดอกกัญชาซุกซ่อนอยู่กับนวมมวย น้ำหนัก 106.94 กิโลกรัม มูลค่า 4 ล้านบาท
3) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ตรวจสอบสินค้าขาออก ปลายทางประเทศเนเธอร์แลนด์ สำแดงชนิดสินค้าเป็นผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีความน่าสงสัย จึงทำการเปิดตรวจ พบช่อดอกกัญชาซุกซ่อนอยู่ร่วมกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 90 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 3.3 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นความผิดฐานสำแดงข้อมูลไม่ถูกต้อง และส่งออกของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามาตรา 202 มาตรา 208 มาตรา 244 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
ในด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกและนำเข้าบุหรี่ กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรรณภูมิ ได้ทำการตรวจยึดบุหรี่ ใช้สิทธิ Re-Export ในใบขนสินค้า โดยระบุต้นทางประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการสำแดงชนิดสินค้าเป็นห่วงสลักบังคับเลี้ยว (Steering Knuckle) ในใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก จากการเปิดตรวจพบเป็น บุหรี่ จำนวน 7,200 แถว น้ำหนัก 1,750 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 30.9 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นการแสดงข้อมูลชนิดสินค้า ปริมาณ และประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง และเป็นการนำของต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอากรและข้อจำกัด ตามมาตรา 202 มาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 166 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 26 มิถุนายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้นจำนวน 101 ราย มูลค่ารวมกว่า 615.74 ล้านบาท